สาระภูมิศาสตร์

การเปลี่ยนแปลงเปลือกโลก

ตามทฤษฎี วัฏจักรของการกัดกร่อนของ วิลเลียม มอร์ริส เดวิส หลังจากเปลือกโลกยกตัวขึ้นก็เกิดขบวนการกัดเซาะของน้ำ

 หลากหลายความเห็นจากนักภูมิศาสตร์และการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าพื้นที่

 

วันที่ 25 มิถุนายน 2561 :

เช้าตรู่ วันที่ 25 มิถุนายน 2561 ทีมข่าวหลายสำนักรายงานตรงกันว่าหน่วยชีล 17 นายได้เดินทางมาถึงถ้ำหลวงฯ และเริ่มต้นสำรวจในโพรงถ้ำพร้อมขุดเจาะทรายที่อุดทางเดินไปยังโถงกลาง ในขณะเดียวกันที่เจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลจากชาวบ้านว่าบริเวณเหนือถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนมีโพรงที่สามารถทะลุถึงถ้ำได้ เจ้าหน้าที่จึงใช้เฮลิคอปเตอร์บินสำรวจบริเวณเหนือถ้ำค้นหาโพรง ซึ่งตามข่าวกล่าวว่าโพรงห่างจากโถงแรก 800 เมตร เจ้าหน้าที่ได้โยนอาหารและขนมพร้อมกระดาษที่มีข้อความให้หยุดรอหน่วยชีลที่กำลังตามหา พร้อมกันนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นผู้บัญชาการการค้นหาในพื้นที่ได้สั่งการให้เร่งสูบน้ำจากปากถ้ำ เดินสายไฟต่อหลอดไฟเข้าไปในถ้ำพร้อมวางแผนเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ดำน้ำ

หลังจากข่าวการค้นหาเด็ก ๆ ที่หายเข้าไปในถ้ำหลวงฯได้แพร่กระจายและเริ่มได้รับความสนใจอย่างมาก อนุกูล สอนเอก นักภูมิศาสตร์ที่เคยสำรวจถ้ำหลวงได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก  Anukoon Sorn-ek ว่า ข้อมูลสำคัญสำหรับทีมค้นหาและช่วยเหลือเด็กสูญหายในถ้ำนะครับ ถ้ำนางนอนหลวงเป็นถ้ำที่มีทางเข้าออกทางเดียว ระบบระบายอากาศไม่ดี ถ้าจะใช้วิธีการสูบน้ำออกควรตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ด้านนอก ไม่งั้นปริมาณ Co2 ภายในถ้ำจะสูงขึ้นทำให้การช่วยเหลือทำได้ยากและมีความเสี่ยงมากขึ้นนะครับ ตำแหน่งที่คาดว่าเด็ก ๆ น่าจะอยู่ (ตำแหน่งวงกลมสีแดง) ลึกที่สุดบริเวณปลายสุดของ Show cave น่าจะประมาณไม่เกิน 1 กม.จากปากถ้ำ ถ้าเลยนี้ไป Section ด้านในที่เป็นเส้นทางเข้า Monk's series เส้นทางแคบและซับซ้อนหาเจอยากมาก คิดว่าคนทั่วไปไม่น่าหาเส้นทางเข้าไปด้านในได้ครับ อีกอย่างในช่วงเวลานี้ ถ้าเด็ก ๆ ถอดรองเท้าและวางเป้ไว้ แสดงว่าพื้นถ้ำมีน้ำท่วมออกมาถึงด้านนอกแล้วแต่ยังไม่ลึกมาก นั่นหมายถึง Section ด้านในจะมีน้ำท่วมแล้ว มีโคลนมากเขาคงไม่เข้าไปลึกมากครับ อาจจะมีปัญหาเรื่องแสงสว่าง ไฟฉายดับ หรือไฟฉายมีน้อยเลยหาทางออกจากถ้ำไม่ได้และระดับน้ำขึ้นซะก่อน ส่วนอันตรายที่สุดสำหรับทีมดำน้ำที่จะดำเข้าไปเป็น Section แรกที่ผมวงสีน้ำเงินเอาไว้ เนื่องจากเส้นทางเข้าแคบต้องมุดเข้าไปและน้ำจะอัดผ่านช่องนี้ออกมา อันตรายสำหรับทีมที่ดำน้ำขาออกแต่ถ้าผ่านจุดนี้ไปได้แล้วเส้นทางด้านในจะกว้างขึ้นสามารถเดินได้ครับ ข้อมูลเผื่อทีมช่วยเหลือจะนำไปใช้ในการวางแผนได้นะครับ สำหรับวิธีการช่วยเหลือ ต้องทำให้พื้นที่น้ำที่ท่วมเพดานถ้ำลดลงก่อน ด้วยลักษณะของถ้ำนางนอนหลวงลำธารที่เกิดขึ้นในถ้ำไม่ได้เกิดจากการไหลมาจากด้านนอก แต่เกิดจากฝนตกบนต้นน้ำและไหลซึมตามรอยแตกเข้ามา เวลาน้ำในถ้ำเริ่มขึ้นจะลงค่อนข้างยาก วิธีดีที่สุดจะต้องสูบน้ำออกให้มากกว่าปริมาณน้ำเข้า เราต้องคำนวณปริมาณน้ำที่ไหลในลำธารในถ้ำว่ามีปริมาณกี่ ลบม.ต่อวินาที และระดมเครื่องสูบน้ำให้ปริมาณ น้ำสูบออกมากกว่าปริมาณน้ำธรรมชาติ พื้นที่ส่วนเพดานถ้ำที่จมอยู่ถึงจะลด แต่ต้องไม่มีปริมาณฝนตกบนภูเขามาเพิ่มปริมาณน้ำในถ้ำอีก ดังนั้นต้องรีบสูบน้ำออกในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้ช่วยเหลือ อย่าสูบน้ำออกโดยไม่มีหลักการครับ เวลาแต่ละนาทีที่ผ่านไปมันกลายเป็นเวลาที่สูญเปล่า ตอนนี้ประมาณ 36 ชม.หลังคนเข้าไปติดค้างอยู่ด้านใน เขายังรอดชีวิตและรอการช่วยเหลืออยู่ครับ หลังการโพสต์ข้อความและแผนผังถ้ำหลวงของอนุกูลฯ สื่อมวลชนหลายสำนักโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์เริ่มให้ความสนใจเข้ามาสัมภาษณ์และสอบถาม แนวคิด วิธีการค้นหาและช่วยเหลือเด็ก ๆ ทั้ง 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงฯ 

         

หลังจากนักภูมิศาสตร์ที่เคยสำรวจถ้ำหลวงฯ ได้โพสต์ข้อมูลและคำแนะนำสำหรับค้นหาและช่วยเหลือเด็กๆ ทำให้สื่อมวลชนจำนวนมากให้ความสนใจและขอเชิญสัมภาษณ์ผ่านรายการต่าง ๆ

วันที่ 26 มิถุนายน 2561 :

วันที่ 26 มิถุนายน 2561 ทีมกู้ภัยยังคงทำการค้นหาเด็ก ๆ ที่หายเข้าไปในถ้ำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องคือฝนตกและน้ำไหลเข้าในถ้ำตลอดเวลาจนระดับน้ำสูงขึ้นถึงผนังถ้ำด้านใน อย่างไรก็ตามหน่วยชีลซึ่งมีความชำนาญในการดำน้ำยังคงสำรวจถ้ำหลวงไปจนถึงโถง 4 แต่เนื่องด้วยน้ำเชี่ยวขุ่นและทางแคบหน่วยชีลจึงต้องถอนกำลังออกมาภายนอกก่อน

จากข้อมูลอุปสรรคในการค้นหาเด็ก ๆ ที่มีอยู่มากมายทำให้หลายหน่วยงานได้ส่งเจ้าหน้าที่และเครื่องมือต่าง ๆ มาช่วยเหลือในการค้นหาเพิ่มเติมขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอวกาศและทะเล มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้นำหุ่นยนต์ดำน้ำและโดรนติดกล้องตรวจจับความร้อนมาช่วยบินสำรวจค้นหา กรมชลประทานส่งเครื่องจักรกลมาช่วยสูบน้ำ เป็นต้น

          

เครื่องมือและเทคโนโลยีต่าง ๆ ถูกนำมาใช้ในภารกิจนี้ เช่นเดียวกับหุ่นยนต์ดำน้ำและโดรนติดกล้องตรวจจับความร้อนก็ถูกนำมาช่วยสำรวจเพื่อค้นหาเด็ก ๆ (ที่มา: ภาพต้นแบบบางส่วนจาก www.prachachat.net)

ในขณะที่อนุกูลฯ นักภูมิศาสตร์ได้กล่าวถึงเด็กทั้ง 13 ชีวิตว่าน่าจะติดอยู่ที่โถงสุดท้าย หากเจอแล้วก็จะช่วยนำออกมายาก พร้อมกันนี้ อนุกูลฯ ได้นำแผนที่โครงข่ายถ้ำของ Mr. Martin Ellis มาซ้อนทับกับแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1 : 50,000 ของกรมแผนที่ทหาร และโพสต์ในเฟซบุ๊ก Geo CMU Alumni (เฟสบุ๊กศิษย์เก่าภูมิศาสตร์ มช.) ขอให้นักภูมิศาสตร์ช่วยสร้างแผนที่บน DEM เพื่อหาเส้นทางเข้าในถ้ำบริเวณทิศใต้ ซึ่งต่อมานักภูมิศาสตร์จำนวนมากได้นำข้อมูลมาสร้างเป็นแผนที่ถ้ำและบริเวณโดยรอบถ้ำหลวงขุนน้ำ-นางนอนทั้งในรูปแผนที่  2 มิติ แผนที่ 3 มิติ แผนที่ผสมผสานซ้อนทับกับภาพถ่ายจากดาวเทียม ตลอดจนสร้างแผนที่ภาพหน้าตัดของพื้นที่ โดยส่งข้อมูลและคำแนะนำจำนวนมากกลับคืนไปให้ อนุกูลฯ เพราะหวังว่าข้อมูลจะถูกส่งเผยแพร่ผ่านสื่อ Social ออกไปยังพื้นที่ให้หน่วยที่กำลังค้นหาเด็ก ๆ ต่อไป

          

 อนุกูลฯ นักภูมิศาสตร์นำแผนที่โครงข่ายถ้ำของ Mr. Martin Ellis ซ้อนทับกับแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1 : 50000 และขอให้นักภูมิศาสตร์ช่วยสร้างแผนที่บน DEM เพื่อหาเส้นทางเข้าในส่วนในสุดของถ้ำบริเวณด้านทิศใต้ที่สูงประมาณ 500-600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ที่มา : เฟซบุ๊ก Geo CMU Alumni)

 

          

นักภูมิศาสตร์จำนวนมากนำข้อมูลแผนที่โครงข่ายถ้ำที่ซ้อนทับกับแผนที่ภูมิประเทศ มาผสมผสานกับข้อมูลอื่น ๆ ที่มี แล้วสร้างเป็นแผนที่รูปแบบต่าง ๆ ส่งกลับคืนไปที่เฟซบุ๊ก Geo CMU Alumni

         

นักภูมิศาสตร์นำแผนที่ภูมิประเทศ และภาพถ่ายจากดาวเทียมบริเวณขุนน้ำนางนอนที่เป็นภาพ 2 มิติ ผลิตเป็นแผนที่ภูมิประเทศ 3 มิติโดยขบวนการ Interpolation ทำให้สามารถเห็นลักษณะของพื้นที่ได้ชัดเจนขึ้น (ที่มา: ภาพจากเฟซบุ๊ก Geo CMU Alumni)

         

นักภูมิศาสตร์นำภาพภูมิประเทศที่เป็นภาพ 3 มิติ มาซ้อนทับกับภาพถ่ายจากดาวเทียมจาก Google Earth ทำให้เห็นลักษณะภูมิประเทศที่เป็นธรรมชาติเหมือนพื้นที่จริง และทำการส่งเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก Geo CMU Alumni

         

แผนที่โครงข่ายถ้ำหลวงฯ ถูกนำมาซ้อนทับกับภาพถ่ายจากดาวเทียมในรูป 3 มิติ ทำให้เห็นลักษณะแนวถ้ำหลวงฯ ที่อยู่ภายใต้ดอยนางนอน

         

นอกจากข้อมูลที่ได้จากนักภูมิศาสตร์ที่เคยสำรวจถ้ำหลวงแล้ว นักภูมิศาสตร์หลายคนพยายามค้นหาข้อมูลที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เคยศึกษาจัดทำแผนการจัดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติบริเวณถ้ำหลวงนางนอน จังหวัดเชียงรายเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีรายงานฉบับนี้มีรายละเอียดอื่น ๆ ที่เคยทำการสำรวจถ้ำหลวงฯไว้ในปี พ.ศ. 2537

สำหรับผม (ใช้ชื่อบนเฟซบุ๊กว่า Geography2GIS) ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักภูมิศาสตร์โดยส่งข้อคิดเห็น แนวคิดและข้อมูลเข้าไปใน เฟซบุ๊ก Geo CMU Alumni โดยกล่าวถึงหลักการว่าควรคาดการณ์จากความคิดของเด็กว่าจะหาพื้นที่หลบพักที่ไหนเพื่อรอคนมาค้นหา และให้ข้อสังเกตในเส้นชั้นความสูงในแผนที่ภูมิประเทศ 1 : 50,000 เพื่อคาดการณ์ความหนาของภูเขาส่วนที่ครอบคลุมถ้ำหลวง ตลอดจนลักษณะความถี่ของเส้นชั้นความสูงว่าหากเป็นบริเวณที่เส้นชั้นความสูงถี่มาก ๆ แสดงว่าอาจจะเป็นรอยหรือแนวของหินที่เลื่อน ซึ่งอาจจะมีโพรงรอดลงไปได้บ้าง (ภายหลังหลักการทางภูมิศาสตร์ รอยหรือแนวของหินที่เลื่อนอาจจะมีโพรงรอดลงไปในถ้ำถูกนำไปใช้ค้นหาตำแหน่งโพรงเข้าสู่ถ้ำหลวงฯ) และอาจจะประเมินความหนาของภูเขาซึ่งเป็นความลึกของโพรง พร้อมให้ข้อสังเกตว่าข้อมูลแผนที่ 1 : 50,000 ซ้อนทับกับแผนที่แนวถ้ำ เป็นข้อมูลค่อนข้างหยาบมีความคลาดเคลื่อนสูง (1mm = 50 m) แต่ก็ต้องทำทุกวิธีเพื่อหาทางช่วยค้นหาเด็ก ๆ

         

ในวันที่ อนุกูลฯ นักภูมิศาสตร์นำแผนที่โครงข่ายถ้ำของ Mr. Martin Ellis ซ้อนทับกับแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1 : 50000 และขอให้นักภูมิศาสตร์ช่วยสร้างแผนที่บน DEM เพื่อหาเส้นทางเข้าในถ้ำนั้น ผมคิดว่านอกจากการสร้างแผนที่บน DEM แล้ว แนวคิดผสมผสานด้านภูมิศาสตร์มนุษย์น่าจะมีประโยชน์จึงได้เสนอข้อคิดเห็น แนวคิดเชิงหลักการในค้นหาเด็กๆ ส่งผ่านไปยังเฟซบุ๊ก Geo CMU Alumni

วันที่ 27 มิถุนายน 2561 :

วันที่ 27 มิถุนายน 2561 น้ำในถ้ำยังสูงขึ้น การติดตั้งไฟและลำเลียงเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เข้ามาเพิ่มในพื้นที่เพื่อเร่งสูบน้ำยังคงทำอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีแนวคิดการเข้าสู่ถ้ำด้านบน นักธรณีและผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำพยายามวิเคราะห์ความหนาของผนังถ้ำเพื่อประเมินการเจาะโพรงถ้ำ พร้อมกันนี้ชุดโรยตัวเริ่มเดินขึ้นดอยผาหมีสำรวจโพรงที่จะโรยตัวเข้าไปช่วยเด็ก ๆ

ในเวลาต่อมาเฟซบุ๊ก Thai navySEAL ได้รายงานว่าเครื่องสูบน้ำมีกำลังไม่เพียงพอที่จะทำให้น้ำลด ฝนยังตกต่อเนื่องจนน้ำท่วมถึงห้องโถง 3 ขณะที่ทีมสำรวจดอยผาหมีได้พบโพรงบนเขา แต่เมื่อลงไปสำรวจพบว่าโพรงนั้นตัน

ในตอนเย็นวันเดียวกันนี้ผู้ชำนาญการดำน้ำจากอังกฤษที่ไทยขอความช่วยเหลือจำนวน 3 คนได้เดินทางมาถึงสนามบินแม่ฟ้าหลวงและเดินทางถึงถ้ำหลวงฯในตอนค่ำวันเดียวกันนี้

ในขณะที่ตลอดวันนักภูมิศาสตร์ผลิตแผนที่จำนวนมาก พร้อมเริ่มระดมสมอง รวบรวมข้อมูลและวางแผนเข้าพื้นที่ โดยอนุกูลฯ ได้โพสต์ขอผู้เชี่ยวชาญแผนที่ภาคสนาม 5 คน ร่วมช่วยปฏิบัติภารกิจช่วยชีวิตเด็ก ๆ 13 ชีวิต แผนการจัดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาตบริเวณถ้ำหลวงฯ ถูกนำเอาข้อมูลมาใช้งาน ข้อมูลเริ่มมีรายละเอียดและจำนวนมากขึ้น ทั้งแผนที่ถ้ำหลวงที่อธิบายความสูงต่ำ ขนาดความกว้าง-สูง-ต่ำของทางเดินภายในถ้ำ จุดที่วิเคราะห์ว่าปลอดภัย จุดที่เสี่ยง จุดที่คาดว่าเด็กหลบอยู่ โดยข้อมูลมากมายที่รวบรวมและสร้างขึ้นถูกส่งเผยแพร่ออกไปผ่าน Social media เพื่อเป็นเครื่องมือประกอบการวางแผนช่วยเหลือเด็ก

         

นักภูมิศาสตร์เริ่มรวบรวมข้อมูลและวางแผนเข้าพื้นที่ พร้อมกับโพสต์ขอผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ภาคสนามจำนวน 5 คนเพื่อร่วมช่วยปฏิบัติภารกิจนี้ (ที่มา : ภาพจากเฟซบุ๊ก Geo CMU Alumni และจาก www.komchadluek.net)

         

นักภูมิศาสตร์เริ่มจัดเก็บและแรกเปลี่ยนข้อมูล ข้อมูลจากแผนการจัดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติบริเวณถ้ำหลวงนางนอน จังหวัดเชียงราย และข้อมูลอื่น ๆ ถูกนำมาเป็นข้อมูลสร้างแผนที่ใหม่ๆ ที่มีรายละเอียดมากขึ้น ชัดเจนขึ้น (ที่มา : ภาพจากเฟซบุ๊ก Geo CMU Alumni)

         

นักภูมิศาสตร์ผลิตแผนที่ใหม่ๆ ที่มีรายละเอียดมากขึ้น ชัดเจนขึ้น เช่น แผนที่โครงข่ายถ้ำหลวงฯ ซ้อนกับแผนที่ภูมิประเทศและ Hillshade เป็นภาพ 3 มิติ แสดงแนวถ้ำหลวงฯ ด้านบนและพื้นราบของภูเขา พร้อมคาดการณ์จุดที่เด็ก ๆ อาจจะพักอยู่ (ที่มา: ภาพจากเฟซบุ๊ก Geo CMU Alumni)

 

          อ่านตอน 1

          อ่านตอน 3

          อ่านตอน 4

          อ่านตอน 5

 

 

 

 

 

 

  • การรู้เรื่องลมฟ้าอากาศ เป็นการเรียนรู้สภาพของอากาศในช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตาม วัน เวลาและสถานที่ ส่วนการรู้เรื่องภูมิอากาศ ก็เป็นการเรียนรู้สภาพอากาศที่เกิดขึ้นเป็นประจำต่อเนื่อง

    Meteorology involves studying the ever-changing atmospheric conditions. In contrast, climatology focuses on studying long-term weather patterns.

    อ่านเพิ่มเติม...
  • โคลนถล่มที่ตำบลน้ำก้อ และอีกหลายพื้นที่ จนมาถึงการเกิดน้ำป่าทำความเสียหายให้กับปายและขุนน่าน ในเดือน สิงหาคม 2559 ...บทเรียนซ้ำ ๆ โมเดลเดิมๆ ช่างน่าเบื่อจังเลย 

    อ่านเพิ่มเติม...
  •  

    นักภูมิศาสตร์ควรเรียนรู้และศึกษาภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมในพื้นที่โดยมุ่งเน้นศึกษาศึกษาเกี่ยวกับโลกในมิติของพื้นที่และเวลา

    อ่านเพิ่มเติม...
JSN Epic is designed by JoomlaShine.com