สาระภูมิศาสตร์

 

พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพี่ ๆ น้อง ๆ และครูบาอาจารย์ ในฐานะศิษย์เก่าจึงได้นำเสนอความคิดของอดีตข้าราชการสายวิชาการและสายบริหาร

 เมื่อวาน (22 พ.ย. 2560) ได้เข้าร่วมงาน วันพี่พบน้อง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดยภาควิชาภูมิศาสตร์ เป็นการบอกเล่าประสบการณ์ แสดงความคิดเห็นการใช้วิชาความรู้ไปประกอบอาชีพทั้งในภาคราชการ ภาคเอกชน และอาชีพอิสระของพี่ๆศิษย์เก่าภูมิศาสตร์ มช.

 

                ในภาคบ่ายมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพี่ ๆ น้อง ๆ และครูบาอาจารย์ ทั้งนี้ในฐานะศิษย์เก่าได้นำเสนอประสบการณ์และความเห็นบางอย่างบางประการจากฐานความคิดของอดีตข้าราชการสายวิชาการและสายบริหารมาก่อน  เลยอยากนำมาเขียนเผยแพร่ไว้เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อนักภูมิศาสตร์และผู้สนใจคนอื่น ๆ

 

                มีคำถามกับตัวเองหลายครั้งเมื่อเห็นภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ใช้แผนที่ มองดูแผนที่ภูมิประเทศ 1:50,000 “พระองค์เห็นอะไร?” มีความเชื่อว่าพระองค์คงไม่ได้เห็นแค่ระดับความสูง-ต่ำของภูมิประเทศจากเส้นชั้นความสูง พระองค์คงไม่ได้เห็นแค่ถนน ทางน้ำ หรือตำแหน่งที่ตั้งหมู่บ้านเท่านั้น พระองค์คงต้องเห็นป่าไม้ เห็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถหล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นต่อพืชพรรณ แหล่งน้ำเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่ เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ เป็นแหล่งน้ำที่ทั้งหมู่บ้านใกล้เคียงและที่อยู่ห่างไกลได้ใช้ประโยชน์ทำมาหากินประกอบอาชีพต่าง ๆ พระองค์คงรู้ว่าต้องมีฝนตกบริเวณไหน เห็นการไหลของน้ำจากแต่ละสายที่จะไหลมาเติมเต็มให้แอ่งน้ำในแต่ละฤดูกาล พระองค์คงเห็นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่และความสุขที่จะเกิดขึ้นกับประชาราษฎร์ของพระองค์

 

                คำถามคือ ทำไมเราอ่านแผนที่จึงไม่เห็นอย่างพระองค์ ทำไมเราเห็นแค่ความสูง-ต่ำ ถนน ทางน้ำ ที่ตั้งหมู่บ้านเท่าที่รับรู้ตั้งแต่เกิดมา พระองค์ท่านเดินทางไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทยเคยอ่านในหนังสือเขียนบอกไว้ว่า พระองค์ต้องการรู้จักพื้นที่ รับรู้ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรของพระองค์

 

สำรวจ ศึกษาพื้นที่ ทั้งภูมิประเทศ ภูมิอากาศ มนุษย์และสิ่งแวดล้อมคือสิ่งที่ระองค์ทำมาตลอด

 

นั่นคือ วิธีการศึกษาของนักภูมิศาสตร์ นี่หว่า !”

 

เพราะเราศึกษาพื้นที่ทั้งภูมิประเทศ ภูมิอากาศ มนุษย์และสิ่งแวดล้อม แนวคิด ทฤษฎีทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี โดยเฉพาะแผนที่เป็นเครื่องสนับสนุนการศึกษาของเรา

 

แล้ววันที่เราลืมอะไรไปบ้าง เรายังคงสำรวจพื้นที่ เรียนรู้ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์หรือไม่

 

เรายังศึกษาและใช้แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์อยู่หรือไม่   

 

หรือเราหันมาเน้นศึกษาการใช้เทคโนโลยีตามกระแสสังคมไปแล้ว

 

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา นักภูมิศาสตร์ใช้เทคโนโลยีเพื่อบอกว่า อะไร อยู่ที่ไหน เท่าไร ใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์พื้นที่ ทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมกับการทำอะไร อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พื้นที่ที่เหมาะสมกับการทิ้งขยะ พื้นที่ที่เหมาะสมกับการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถสร้างหรือจัดทำได้เนื่องจากถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่หรือผู้เกี่ยวข้อง

ทำไม เราไม่ใช้ศาสตร์ทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ มาเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ทางพื้นที่ ความพึงพอใจ การเข้าถึงพื้นที่และอื่น ๆ ถ้าเรามี Layers เกี่ยวกับมนุษย์มาร่วมวิเคราะห์กับ Layers ทางกายภาพ วันนี้ทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมอาจจะได้รับการยอมรับและไม่ต้องเสียเวลา เสียงบประมาณในการจ้างศึกษามากมายแล้วศูนย์เปล่า

นักภูมิศาสตร์ อย่าลืมว่าเราเรียนรู้ ศึกษาทั้งภูมิประเทศ ภูมิอากาศ มนุษย์และสิ่งแวดล้อม แนวคิด ทฤษฎี และเครื่องมือและเทคโนโลยี เราน่าจะบูรณาการทั้งหมดเข้าด้วยกันได้ดีกว่าศาสตร์อื่น โดยเฉพาะการบูรณาการใช้แนวคิด ทฤษฎีทางด้านมนุษย์กับด้านกายภาพเข้าด้วยกัน

สิ่งสำคัญที่นักภูมิศาสตร์ใช้น้อยมากคือ โอกาสไม่ว่าจะเป็นการฉวยโอกาสหรือสร้างโอกาส สังเกตได้จาก ในวันที่เกิดภัยพิบัติใหญ่ การเกิดดินโคลนถล่ม การเกิดสึนามิ การเกิดน้ำท่วมใหญ่ นักวิชาการที่ออกมาอธิบายสาเหตุการเกิด การเฝ้าระวัง หรือการช่วยเหลือก็ตาม จะเป็นนักวิชาการสายอื่น ๆ ทั้งนักธรณีวิทยา นักอุทกวิทยา นักปฐพีวิทยา นักอุตุนิยมวิทยา นักวิศวกร.... ขาดแต่นักภูมิศาสตร์ทั้ง ๆ ที่เรื่องที่นักวิชาการเหล่านั้นอธิบายเป็นเรื่องพื้นฐานทางภูมิศาสตร์ทั้งสิ้น วันนั้นนักภูมิศาสตร์อยู่ไหน หรือนักภูมิศาสตร์จะบอกได้แค่ อะไร อยู่ที่ไหน เท่าไรโดยอ้างอิงจากการอ่านแผนที่ ดูภาพถ่ายจากดาวเทียมที่สร้างขึ้นมาอย่างสวย ๆ เท่านั้น

สิ่งที่นักภูมิศาสตร์ควรทำอย่างยิ่งคือ ย้อนกลับมาค้นหาตัวตนหรืออัตลักษณ์ของตนเอง แล้วเรียนรู้และหาประสบการณ์อย่างเข้มข้น รวมทั้งสร้างและฉวยโอกาสที่จะออกมาบอกเล่า อธิบายเรื่องราวทางภูมิศาสตร์กับสังคมเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

พื้นฐานที่สำคัญคือ การอ่านแผนที่ของนักภูมิศาสตร์ไม่ว่าจะอ่านจากแผนที่แผ่นกระดาษหรือแผนที่จากคอมพิวเตอร์ ต้องเห็นมากกว่าระดับความสูง-ต่ำของภูมิประเทศ เห็นมากกว่า อะไร อยู่ที่ไหน เท่าไร     

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  • มวลสารที่อัดแน่นอยู่ระเบิดออกอย่างรุนแรง (Big Bang) ทำให้เกิดระบบสุริยจักรวาล

    อ่านเพิ่มเติม...
  • ปัจจัยที่ทําให้เกิดภัยพิบัติดินถล่ม ได้แก่ ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะทางธรณีวิทยาและปฐพีวิทยา ลักษณะการใช้ที่ดิน และลักษณะสภาพภูมิอากาศ

    The factors that cause landslide disasters are topographical features, geological and soil characteristics, land use characteristics, and climate characteristics.

    อ่านเพิ่มเติม...
JSN Epic is designed by JoomlaShine.com