เปรียบเทียบอัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุ 3 ปี
ข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อนำมาเชื่อมเป็นแผนที่แสดงจำนวนประชากรของประเทศไทยโดยนับเอาจำนวนประชากรวัยเด็กรวมกับจำนวนประชากรวัยสูงอายุเป็น “ประชากรวัยพึ่งพิง”แล้วนำมาเปรียบเทียบกับประชากรวัยแรงงาน โดยคำนวณเป็นค่าอัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุ พบว่า ปี พ.ศ. 2556 อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุจะเท่ากับ 48 (มีกลุ่มคนในวัยที่ต้องพึ่งพิง 48 คน ในทุก ๆ กลุ่มคนวัยทำงาน 100 คน) ปี พ.ศ. 2560 อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุจะเท่ากับ 50 และกลางปี พ.ศ. 2565 (เดือน มิถุนายน) อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุจะเท่ากับ 53 ซึ่งจะพบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2556-2560 อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุเพิ่มขึ้น 2 ในขณะที่ช่วงปี พ.ศ. 2560-2565 อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุเพิ่มขึ้นถึง 3
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุแต่ละจังหวัด(รูปที่ 13) จะพบว่า ในปี 2556 จังหวัดส่วนใหญ่จะมีอัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุน้อยกว่า 50 ส่วนจังหวัดที่อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุมากกว่า 50 และเกาะกลุ่มโดดเด่นจะเป็นจังหวัดในภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดพังงาลงไปจนถึงจังหวัดใต้สุดของประเทศไทย โดยมี 2 จังหวัดคือจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลาที่อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุมากกว่า 60
ในปี 2560 พบว่าหลายจังหวัดที่ในปี 2556 มีอัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุน้อยกว่า 50 มีอัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุเพิ่มมาอยู่ในช่วง 50-60 แต่จังหวัดที่อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุมากกว่า 60 ยังคงเป็นจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลาเช่นเดิม
ในปี 2565 พบว่าในภาพรวมทุกจังหวัดมีอัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุอยู่ในช่วงเดียวกับปี 2560 คือ อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุอยู่ในช่วง 50-60 และมีจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลาที่อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุมากกว่า 60
จากรูปที่ 14 แผนภูมิเปรียบเทียบอัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุแต่ละจังหวัด ปี 2556 2560 2565 พบว่า ในปี 2565 เกือบทุกจังหวัดอัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุจะสูงขึ้น มีเพียง 4 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และภูเก็ตเท่านั้นที่อัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุลดลง
หากพิจารณาสัดส่วนของประชากรวัยพึ่งพิงต่อประชากรทั้งหมด โดยนำเอาแผนภูมิค่าร้อยละของประชากรวัยเด็กต่อประชากรทั้งหมดมาเปรียบเทียบกับแผนภูมิค่าร้อยละของประชากรวัยสูงอายุต่อประชากรทั้งหมด (รูปที่ 15) จะพบว่าแต่ละจังหวัดค่าร้อยละของประชากรวัยเด็กต่อประชากรทั้งหมดจะลดลงทุก ๆ ปี ในขณะที่ค่าร้อยละของประชากรวัยสูงอายุต่อประชากรทั้งหมดกลับเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน แสดงว่าอัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุที่สูงขึ้นทุกปีและเกือบทุกจังหวัดนั้นเกิดจากการเพิ่มขึ้นของประชากรวัยสูงอายุเป็นหลัก เมื่ออัตราส่วนพึ่งพิงทางอายุเพิ่มขึ้นทุกปี พิจารณาดี ๆ ภาระของประชากรวัยแรงงานที่ต้องดูแลวัยพึ่งพิงคงมากขึ้น....จะทำอย่างไร...หรือจะให้เป็นภาระของ AI
- << Prev
- Next