ดูแลแม่แจ่ม ดูแลป่าต้นน้ำ
ในวันนี้โชคดีและมีความสุขที่ได้มารับรู้เรื่องราวของแม่แจ่ม...สุขที่ในเรื่องราวนั้นยังพูดกันถึงการจัดการดิน น้ำ ป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ...สุขที่ได้เห็นผลิตภัณฑ์อาหารและน้ำภายใต้เครื่องหมายการค้า “พอเพียง”...สุขที่ยังเห็นประเทศไทยมีความหวังอยู่บ้าง...
เช้าวันที่ 9 ก.ค. 2559 เส้นทางจาก..แม่ริม...สู่...แม่แจ่ม...เปิดโล่งต้อนรับการเดินทางของเราและคนอื่นๆ
เริ่มต้นตั้งแต่เส้นทางที่คดเคี้ยวมุ่งสู่ยอดดอยอินทนนท์ที่สูงชัน เลี้ยวซ้ายมุ่งสู่แม่แจ่มด้วยเส้นทางที่สูงชัน คดเคี้ยวกว่าระหว่างทางมืดทึกปกคลุมด้วยไม้ป่ารกทึบและหมอกขาวคลุมเส้นทาง
พ้นจากป่าทึบ พ้นจากหมอกและต้นไม้ที่ปกคลุม สิ่งที่ปรากฏข้างหน้า...เขาหัวโล้นที่ปรากฏเด่นชัด...ป่าต้นน้ำหายไปไหนเป็นคำถามที่ผุดขึ้นในสมอง...
ยิ่งเข้าใกล้เมืองแม่แจ่มยิ่งชัดเจน...ทั้งร่องลอยดินที่ทรุดลงมา...เนินเขาที่ถูกแผ้วถาง....ต้นข้าวโพดที่กำลังเติบโตและเส้นทางขนส่งเล็กๆที่มุ่งสู่เนินเขาหัวโล้น
ถึงแล้วเมืองแม่แจ่ม...ชุมชนกลางภูเขาที่(เคย)มีป่าเขาต้นน้ำโอบล้อมอย่างหนาทึบ...
แวะกินอาหารกลางวันแล้วแอบเข้าไปฟังการประชุม...แม่แจ่มโมเดล...เข้าไปในฐานะประชาชนคนธรรมดาที่อยากรู้...จากข้อมูลพบว่ามีการพูดคุย..ประชุมกันหลายกลุ่มหลายฝ่าย...จนเกิดผลผลิตเป็นหลักการในจัดการพื้นที่ที่เป็นรูปธรรมให้เห็น...(แต่จะนำไปปฏิบัติและได้ผลมากน้อยอย่างไรคงต้องคอยติดตาม)
แต่ข้อมูลที่น่าสนใจซึ่งนายอำเภอแม่แจ่มกล่าวไว้ในที่ประชุมคือ...
พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ร้อยละ 90 เป็นภูเขา ร้อยละ 10 เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยและอื่นๆ คนในแม่แจ่มยังคงมีปัญหาพื้นฐานคือ ปัญหาความยากจน การมีหนี้สิน และปัญหาด้านสุขภาพ และยังกล่าวเพิ่มเติมว่าจากการศึกษาของกรมป่าไม้พบว่า ร้อยละ 40 ของแหล่งน้ำสู่แม่น้ำปิงและร้อยละ 15 ของแหล่งน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยา...มาจากป่าต้นน้ำจากแม่แจ่ม
ที่สำคัญพบว่า...ปัจจุบันเมื่อมีการปลูกข้าวโพดบนภูเขาที่แม่แจ่ม...มีการใช้สารเคมีทั้งปุ๋ยและยาฆ่าแมลงจำนวนมาก...ซึ่งไหลลงสู่ลำธารสู่ห้วย คลองและแม่น้ำในพื้นราบ
ที่สำคัญพบว่า...ปัจจุบันเมื่อมีการปลูกข้าวโพดบนภูเขาที่แม่แจ่ม...เมื่อมีการเก็บผลผลิตคือเมล็ดข้าวโพดแล้ว...สิ่งที่เหลือไว้ทั้งซังข้าวโพด ต้นข้าวโพดและอื่นๆ...ชาวบ้านเลือกทำลายโดยการเผาซึ่งทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและกระทบต่อคนพื้นราบ
คนพื้นราบคิดอย่างไร...
เราไม่สามารถใช้กฎหมายหรือสิ่งใดๆกำกับความคุมโดยการห้ามอย่างนั้นอย่างนี้ได้ร้อยเปอร์เซ็นแน่นอน...เพราะชาวบ้านยังมีปัญหาความยากจน การมีหนี้สิน และปัญหาด้านสุขภาพ อย่างต่อเนื่อง…แล้วจะให้ชาวบ้านอยู่อย่างมีความสุขกับป่าได้อย่างไร
จริงๆแล้วมีแนวคิดที่เสนอไว้มากมาย..แม้กระทั้งการให้ชาวบ้านจ้างชาวบ้านปลูกป่าเพื่อให้มีรายได้อื่นทดแทนการปลูกข้าวโพด
แล้วคนพื้นราบ...ควรหาทางแบ่งปันงบประมาณ เงินทองที่ใช้จ่าย พัฒนาพื้นที่ ดูงาน ประชุม สัมมนาอะไรเหล่านั้น...มาช่วยแม่แจ่มบ้างดีไหม...หากช่วยกันสักวันป่าต้นน้ำแม่แจ่มคงจะค่อยๆเติมเต็มน้ำกินน้ำใช้ให้พื้นราบได้มีกินมีใช้อย่างอุดมสมบูรณ์เหมือนเช่นก่อนมา
วันนี้อาจจะพบเห็นอุปสรรคหลายๆอย่าง เอาแรงใจเชียร์แม่แจ่มโมเดลให้สำเร็จเป็นต้นแบบให้ลูกหลานได้อยู่กับป่าได้อย่างมีความสุข
สำหรับเราในวันนี้โชคดีและมีความสุขที่ได้มารับรู้เรื่องราวของแม่แจ่ม...สุขที่ในเรื่องราวนั้นยังพูดกันถึงการจัดการดิน น้ำ ป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ...สุขที่ได้เห็นเด็กๆ ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์31 แม่แจ่ม จัดทำผลิตภัณฑ์อาหารและน้ำภายใต้เครื่องหมายการค้า “พอเพียง” ซึ่งเชื่อว่ายังคงมีอะไรลึกซึ้งกว่าซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้น...สุขที่ยังเห็นประเทศไทยมีความหวังอยู่บ้าง...
และแอบมีความสุขเล็กๆที่บังเอิญได้พบเพื่อนเก่าในป่าใหญ่...ขอบคุณแม่แจ่มและหวังว่าภาพป่าที่เลือนหายจะคืนกลับมาแจ่มชัดได้จริงๆ...
...เบาๆบ้างนะ...ทุนนิยม
..........................................................................................................................................................................
สุดท้ายอยากบอกแม่แจ่มว่า อย่าให้บทบาทของภูมิสารสนเทศซึ่งเป็นแค่เครื่องมือที่เรานำมาใช้ประโยชน์จัดทำข้อมูลและแผนที่ชุมชนตามแนวคิดของเรามาชี้นำการแก้ปัญหา...เดี่ยวจะหลงทาง