ให้เรตสมาชิก: 5 / 5

ดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งาน
 

ควรหรือที่ “ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS)  จะเป็นองค์ประกอบย่อยของ ภูมิสารสนเทศ (Geoinformatics, Geomatics)”

จากความหมายและการอธิบายคำว่า ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และภูมิสารสนเทศศาสตร์ข้างต้น ควรหรือที่จะสรุปว่า ภูมิสารสนเทศ (Geoinformatics, Geomatics) ประกอบด้วย เทคโนโลยีระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (Global Positioning System : GPS)  การรับรู้ระยะไกล (Remote Sensing) และ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS)  

หากพิจารณาความหมายและข้ออธิบายแล้วจึงไม่น่าเป็นการถูกต้องนักที่จะกล่าวว่า ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS)” เป็นองค์ประกอบย่อยของ ภูมิสารสนเทศ (Geoinformatics, Geomatics) เนื่องจาก ภูมิสารสนเทศ มุ่งเน้นการสำรวจและการรังวัดในเชิงกายภาพ  ส่วน ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นเทคโนโลยีที่ประยุกต์ใช้กรอบแนวคิดทางภูมิศาสตร์ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับโลกทั้งในส่วนของกายภาพและสังคมมนุษย์

เมื่อ ต้องศึกษาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสำหรับงานหรือภารกิจเชิงพื้นที่ ควรจะศึกษาแนวคิดทางภูมิศาสตร์ ซึ่งครอบคลุมและกว้างขว้างกว่าการศึกษาความถูกต้องและแม่นยำในเชิงกายภาพ นั่นคือ นอกจากจะใช้เทคโนโลยีตอบคำถามว่า อะไร อยู่ที่ไหน เท่าไรแล้ว ควรจะใช้เทคโนโลยีสื่อสารสารสนเทศเพิ่มเติมว่า ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์ ในพื้นที่นั้น และมนุษย์สามารถรับรู้ เข้าใจและควรจัดการปรากฏการณ์นั้นได้อย่างไร

หากกล่าวว่าภูมิศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยี ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS)แล้ว คงต้องกล่าวถึงคำว่า ภูมิสารสนเทศ (Geoinformatics; Geometics)ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) กับ ภูมิสารสนเทศ (Geoinformatics, Geometics)เป็นสองคำที่ผู้รู้จัก ผู้เคยรู้จัก และผู้ที่กำลังจะรู้จักเทคโนโลยีนี้มีความเข้าใจสับสน เรียกถูก-เรียกผิด บางคนเรียก เทคโนโลยี GIS” ว่า  ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์บางคนก็เรียกว่า ภูมิสารสนเทศ จนกระทั้งพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้อธิบายความหมายไว้ว่า

Geographic Information System (GIS)  ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (จีไอเอส) : ระบบ ข้อมูลข่าวสารที่เชื่อมโยงกับค่าพิกัดภูมิศาสตร์ และรายละเอียดของวัตถุบนพื้นโลก โดยใช้คอมพิวเตอร์ที่ประกอบด้วยฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อการนำเข้า จัดเก็บ ปรับแก้ แปลง วิเคราะห์ข้อมูล และแสดงผลลัพธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แผนที่ ภาพ 3 มิติ สถิติตารางข้อมูล เพื่อช่วยในการวางแผนและตัดสินใจของผู้ใช้ให้มีความถูกต้องแม่นยำ

Geoinformatics, Geomatics ภูมิสารสนเทศศาสตร์ : ศาสตร์ สารสนเทศที่เน้นบูรณาการของเทคโนโลยีทางด้านการสำรวจ การทำแผนที่ และการวิเคราะห์ข้อมูลทางพื้นที่เข้าด้วยกัน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับโลก ได้แก่ เทคโนโลยีระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก การรับรู้ระยะไกล ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

ในขณะที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้นิยามศัพท์คำว่า ภูมิสารสนเทศ ไว้ว่า ภูมิสารสนเทศ  คือ ข้อมูลเชิงตำแหน่งทุกชนิด ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะที่เป็นเอกสารหรือเชิงเลข (Digital) หรือจะได้มาจากกระบวนการหรือกรรมวิธีใด โดยหมายรวมถึง แผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพดาวเทียม ข้อมูลเวคเตอร์ แบบจำลองภูมิประเทศเชิงเลข ตลอดจนข้อมูลจากการสำรวจรังวัดทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นการรังวัดแบบดั้งเดิม (Conventional Survey) หรือจากการรังวัดสมัยใหม่ด้วยสัญญาณดาวเทียม GPS ฯลฯ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลใน Wikipedia, the free encyclopedia  ที่กล่าวถึง Geomatics ว่ามุ่งเน้นการสำรวจและการรังวัด

อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้ว ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และ ภูมิสารสนเทศ มีแนวคิด วิธีการและมีการใช้งานมานานก่อนที่จะมีการบัญญัติคำทั้งสองโดยชื่อที่เรียกแตกต่างกันออกไป ได้แก่ Land Information System, Urban Information System, Geoscience, Spatial Information System, Geo-Information เป็น ต้น หากไม่สนใจว่าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นองค์ประกอบของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ แล้วจะพบว่า แนวคิดและวิธีการของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มีการใช้งานใน ศาสตร์ทางภูมิศาสตร์มานานแล้ว โดยเฉพาะ การใช้ Overlay Technique ซึ่งใช้แผ่นใส หรือ Tracing Paper หรือ วัสดุโปร่งใสอื่น ๆ สร้างแผนที่ที่เป็นชั้นข้อมูลต่าง ๆ เพื่อการหาตำแหน่ง ระยะทาง พื้นที่ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของข้อมูลในพื้นที่ ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดเทคโนโลยีนี้คำศัพท์ที่ถูกนำมาใช้เรียกเทคโนโลยี คือ Geographic Information System (GIS)  ซึ่ง ใช้กรอบแนวคิดของวิชาภูมิศาสตร์เป็นฐานในการประยุกต์ใช้งาน ส่วนแนวคิดด้านเทคโนโลยีที่ถูกนำมาเป็นเพียงเครื่องมือจะเปลี่ยนแปลงไปตลอด เวลาตามยุค ตามสมัย  

จากความหมายและการอธิบายคำว่า ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และภูมิสารสนเทศศาสตร์ข้างต้น มีการพยายามอธิบายสรุปว่า ภูมิสารสนเทศ (Geoinformatics, Geomatics) ประกอบด้วย เทคโนโลยีระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (Global Positioning System : GPS)  การรับรู้ระยะไกล (Remote Sensing) และ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) ซึ่งเป็นการแปลกที่กล่าวว่า เทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เป็นส่วนประกอบย่อยของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geoinformatics, Geomatics) เนื่องจาก เมื่อพิจารณารายละเอียดของความหมายของคำทั้งสองจากคำภาษาอังกฤษแล้วจะพบว่า คำว่า ภูมิสารสนเทศศาสตร์ แปลมาจากคำว่า Geoinformatics หรือ Geomatics (มาจากประเทศแคนาดา) โดยที่ Geo หมายถึง โลกหรือการศึกษาเกี่ยวกับโลก และคำว่า  Informatics หมายถึง ข้อมูลข่าวสาร หรือ information ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผ่านการประมวลและวิเคราะห์แล้ว ขณะที่คำว่า Geomatics จะมีความหมายลักษณะเดียวกัน แต่จะเน้นถึงการสำรวจและการรังวัด ซึ่งทั้งสองคำจะมุ้งเน้นที่จะศึกษาเกี่ยวกับโลกในเชิงกายภาพ ในขณะที่ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์แปลมาจากคำว่า Geographic Information System โดยที่ Geographic มาจาก Geo หมายถึง โลก และ Graphic หมาย ถึง การเขียน ซึ่งเป็นการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับโลก หรือที่รู้จักกันว่าเป็นศาสตร์ที่เรียกว่า ภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ว่าด้วยการจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์อาศัยอยู่ ตลอดจนองค์ประกอบทางด้านสังคมมนุษย์ โดยศึกษาถึงลักษณะ ความหมาย รูปแบบ การกระจาย การะบวนการเกิดการเปลี่ยนแปลง วิวัฒนาการ ตลอดจนความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งมีแนวความคิดหลักเกี่ยวกับพื้นที่ในลักษณะที่เป็นระบบ คือ ระบบกายภาพและระบบสังคมมนุษย์  เช่น ระบบกายภาพ ศึกษาลักษณะภูมิประเทศ หิน ดิน น้ำ บรรยากาศ เป็นต้น ระบบสังคมมนุษย์ ศึกษา ประชากร การเมือง เศรษฐกิจ เป็นต้น ดังนั้น Geographic หรือ ภูมิศาสตร์ จึงเป็นศาสตร์ที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับโลกทั้งในส่วนของระบบกายภาพและระบบสังคมมนุษย์  ส่วนคำว่า Information หมายถึง ข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นข้อมูลที่ผ่านการประมวลและวิเคราะห์แล้ว System ในที่นี้หมายถึงระบบเทคโนโลยีอันได้แก่ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ข้อมูลและสารสนเทศ ตลอดจนระบบเครือข่ายสื่อสาร (Network and Communication)

ดังนั้น เมื่อพิจารณาความหมายและข้ออธิบายข้างต้นแล้ว จึงไม่น่าเป็นการถูกต้องนักที่จะกล่าวว่า ภูมิสารสนเทศ (Geoinformatics, Geomatics) ประกอบด้วย เทคโนโลยีระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (Global Positioning System : GPS)  การรับรู้ระยะไกล (Remote Sensing) และ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS)” เนื่องจาก ภูมิสารสนเทศ มุ่งเน้นการสำรวจและการรังวัดในเชิงกายภาพ ส่วน ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นเทคโนโลยีที่ประยุกต์ใช้กรอบแนวคิดทางภูมิศาสตร์ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับโลกทั้งในส่วนของกายภาพและสังคมมนุษย์

ทั้ง นี้หากมีความเข้าใจในข้อแตกต่างดังกล่าวแล้วจะพบว่า เมื่อต้องศึกษาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสำหรับงานหรือภารกิจเชิงพื้นที่ ควรจะศึกษาแนวคิดทางภูมิศาสตร์ ซึ่งครอบคลุมและกว้างขว้างกว่าการศึกษาความถูกต้องและแม่นยำในเชิงกายภาพที่ ไม่ได้เน้นเฉพาะเทคโนโลยีการสำรวจ การรังวัดและวิเคราะห์ด้วยแผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพดาวเทียม ข้อมูลเวคเตอร์ และแบบจำลองภูมิประเทศเชิงเลขเพียงอย่างเดียว หากจะต้องศึกษาความสัมพันธ์ทั้งด้านความคิดเห็น การรับรู้ และความเกี่ยวข้องทั้งทางกายภาพและสังคมมนุษย์ในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย หากจะอธิบายให้ชัดเจนก็คือ นอกจากจะใช้เทคโนโลยีตอบคำถามว่า อะไร อยู่ที่ไหน เท่าไรแล้ว ควรจะใช้เทคโนโลยีสื่อสารสารสนเทศเพิ่มเติมว่า ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์ ในพื้นที่นั้น อีกทั้งมนุษย์สามารถรับรู้ เข้าใจและควรจัดการปรากฏการณ์นั้นได้อย่างไร

นั่นคือแนวทางที่จะบอกว่าเมืองไทยควรศึกษา ภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยี ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) ให้ชัดเจน เพราะเราจะได้ไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมจึงมีนักวิชาการไทยส่วนหนึ่งจึงเข้าใจว่า Google Map คือ GIS และทำไมการพัฒนา GIS ในเมื่อไทยจึงหยุดอยู่แค่ต้องการคำตอบว่า อะไร อยู่ที่ไหน เท่าไร เท่านั้น