ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

GIS เป็นเพียงเครื่องมือ หากไม่รู้และไม่เข้าใจการใช้เครื่องมือ ก็ไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะถ้าไม่รู้จัก "ศาสตร์" ที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีแล้วนี้ เครื่องมือก็จะถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า การใช้งาน GIS ก็จะทำได้เพียงเพื่อตอบคำถามว่า อะไร อยู่ที่ไหน เท่าไร สถาบันการศึกษาที่นำระบบ GIS ไปประกอบการสอนควรตระหนักว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแต่ ศาสตร์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

แท้จริง GIS ก็เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น หากไม่รู้และไม่เข้าใจการใช้เครื่องมือ ก็ไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะถ้าไม่รู้จัก "ศาสตร์" ที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีแล้วนี้ ก็แทบจะทำอะไรได้ไม่มากไปกว่า การใช้ GIS เป็นเครื่องมือเพื่อตอบคำถามว่า อะไร อยู่ที่ไหน ยิ่งในปัจจุบัน การเข้าถึงข้อมูลโดยการเรียกดูแผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพ 3 มิติ หรือภาพจริงด้วย Google Earth, Google Map, Bring Map และอื่น ๆ ผ่านระบบ Internet ก็สามารถตอบดังกล่าวได้อย่างชัดเจน

หากถามว่าเมื่อเข้าใจในศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่แล้วจะสามารถใช้  GIS เป็นเครื่องมือตอบคำถามอะไรได้มากกว่านั้นบ้าง ตัวอย่างมากมายที่ประยุกต์ใช้ GIS เพื่อวิเคราะห์เชิงพื้นที่และตอบคำถามได้ตั้งแต่คำถามพื้นฐานจนถึงคำถามที่ซับซ้อน เช่น

-    การใช้ GIS ค้นหาที่ตั้งหรือตำแหน่งที่ต้องการ เช่น การตั้งคำถามพื้นฐานว่า โรงเรียนวัดมะกอกอยู่ที่ไหน

-     การใช้ GIS ถามคำถามที่มีเงื่อนไขมากขึ้น เช่น โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง

-     การใช้ GIS ถามเกี่ยวกับการเดินทางไม่ว่าจะเป็นระยะทางที่สั้นที่สุด เวลาที่ใช้เดินทางน้อยที่สุด หรือ เส้นทางที่ใช้เวลาน้อยที่สุดโดยไม่ต้องใช้ทางด่วน

-     การใช้ GIS วิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มหรือการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในพื้นที่ด้วยเงื่อนไข ตัวแปรที่ชัดเจน เช่น มวลน้ำ 20000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากนครสวรรค์จะไหลมาถึงกรุงเทพมหานครภายในกี่ชั่วโมง และจะส่งผลกระทบให้เกิดน้ำทั่วครอบคลุมพื้นที่เท่าไร 

คำถามและสิ่งที่น่าสนใจข้างต้นเป็นการนำเอา GIS ไปประยุกต์ใช้งานที่น่าจะได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องและหลากหลายภายใต้กรอบแนวคิดของศาสตร์สาขาต่างๆ โดยเฉพาะศาสตร์ที่เป็นรากฐานการศึกษาทางพื้นที่โดยตรงคือ ภูมิศาสตร์

เป็นที่น่าเสียดายว่า ในปัจจุบันการเรียนสอนและการศึกษาวิจัยในบ้างสาขาที่มีการนำ GIS ไปเป็นเครื่องมือนั้น ผู้สอนและผู้เรียนหันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากกว่าแนวคิดของศาสตร์ ทำให้การศึกษาวิจัยมีแนวคิดที่ซ้ำ ๆ เพียงแต่เปลี่ยนพื้นที่ศึกษาไม่สามารถดำเนินการได้หลากหลายและต่อเนื่อง มุ่งเน้นเพียงการใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก ทำให้ความแตกฉานในเนื้อหาวิชาจึงลดลง ผู้ศึกษามีเพียงความชำนาญในการใช้เทคโนโลยี

ที่น่าตกใจคือ หลายสถาบันการศึกษาลืมไปว่า GIS เป็นเทคโนโลยี ไม่ใช่ "ศาสตร์"มีการนำระบบ GIS ไปเป็นเนื้อหาวิชาหลักที่ใช้สอนและให้ความสำคัญ จนยอมเปลี่ยนชื่อหรือตั้งสาขาวิชาเป็นชื่อ GIS โดยตรง และสิ่งที่ตามมาและต้องระวังในอนาคต คือ ศิษย์ของสถาบันที่จบในสาขานี้มีความเสี่ยงที่จะมี องค์ความรู้ที่ล้าสมัย (obsolete)ในอนาคตเพราะเป็นความรู้ด้านเทคโนโลยี (ไม่ใช่ ศาสตร์)ซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อศิษย์สถาบันเหล่านี้จบการศึกษาไปแล้วและยังหางานทำไม่ได้ในระยะ 3-5 ปี เขาจะเป็น บัณฑิต obsolete

หน่วยงานที่นำเอาระบบ GIS ไปใช้งาน เมื่อรับบัณฑิตที่มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเข้าไปทำงาน การพัฒนาระบบ GIS เพื่อใช้งานสามารถทำได้ระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะการขาดความรู้ด้านการประยุกต์ใช้งานเชิงพื้นที่ ทำให้ใช้งานระบบ GIS ได้เพียงการตอบคำถามพื้นฐานไม่ต่างอะไรกับการใช้ Google Map ผ่านระบบ Internet การลงทุนพัฒนาระบบงานด้านเทคโนโลยี GIS จึงไม่เสี่ยงที่จะใช้งานไม่คุ้มค่า สุดท้ายก็จะเหลือไว้เพียง "ขยะคอมพิวเตอร์ (Hardware Software Data Information เก่า ๆ)" ในขณะที่ยังคงต้องจ่ายเงินค่าดูแลระบบเดิมอย่างต่อเนื่อง

ควรตระหนักว่า GIS เป็นเพียงเครื่องมือ หากไม่รู้และไม่เข้าใจการใช้เครื่องมือ ก็ไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะถ้าไม่รู้จัก "ศาสตร์" ที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีแล้วนี้ เครื่องมือก็จะถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า ระบบ GIS เป็นเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแต่ ศาสตร์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง