ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

เมื่อนำแผนที่มาใช้งานจะพบว่าแผนที่มีรายละเอียดประจำขอบระวางแตกต่างกันไป แผนที่ที่สมบูรณ์แต่ละฉบับจะต้องมีสัญลักษณ์แสดงทิศเหนือเสมอ แผนที่หลายชุดแสดงทิศเหนือเป็นเส้นบอกแนวทิศทางและแสดงเป็นสัญลักษณ์ 3 เส้น เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกเรียกว่า แผนผังมุมบ่ายเบน (Declination Diagram) โดยทั้ง 3 เส้นประกอบด้วยเส้นแนวทิศเหนือจริง (True North) เส้นแนวทิศเหนือแม่เหล็ก (Magnetic North) และเส้นแนวทิศเหนือกริด (Grid North)

1.      แนวทิศเหนือจริง (True North) หรือเรียกว่า แนวทิศเหนือภูมิศาสตร์ จะเป็นแนวเส้นตรงที่ชี้ไปยังขั้วโลกเหนือ หากสมมุติว่าโลกกลมและมีเส้นสมมุตติที่เรียกว่าเส้น Latitude และ Longitude แล้ว ณ ตำแหน่งหรือสถานที่ในแผนที่หรือบนภูมิประเทศ แนวทิศเหนือจริงในแผนที่จะหมายถึง แนวหรือทิศทางของเส้น Longitude ที่เป็นแนวตีบไปยังขั้วโลกเหนือ

2.      แนวทิศเหนือแม่เหล็ก (Magnetic North) เป็นแนวที่เข็มทิศชี้ไปหาขั้วเหนือของแม่เหล็กโลกในขณะที่ปลายเข็มทิศอยู่นิ่งแล้ว ในบางพื้นที่ของโลกแนวทิศเหนือแม่เหล็กจะชี้ไปแนวเดียวกับทิศเหนือจริงหรือขั้วโลกเหนือจริงๆ แต่ในบางพื้นที่แนวทิศเหนือแม่เหล็กอาจจะไม่เป็นแนวเดียวกับทิศเหนือจริง หากเป็นคนละแนวหมายความว่า แนวทิศเหนือแม่เหล็กจะเบี่ยงเบนออกจากขั้วโลก นั่นหมายถึงทิศเหนือที่อ่านจากเข็มทิศทั่วไปอาจจะไม่ใช่ทิศเหนือซึ่งเป็นขั้วโลกก็ได้ ดังนั้นเข็มทิศบางประเภทจึงแสดงทั้งแนวทิศเหนือแม่เหล็กและทิศเหนือจริง

3.      แนวทิศเหนือกริด (Grid North) หรือแนวทิศเหนือแผนที่ จะเป็นแนวทิศเหนือตามเส้นกริดทางดิ่งของเส้นกริดที่ใช้ในกระบวนการจัดทำแผนที่ ซึ่งจะสังเกตได้ชัดว่าปกติ หากมีเส้นกริดแผนที่และเส้นแนว Latitude และ Longitude แล้ว เส้นกริดดิ่งของเส้นกริดแผนที่และเส้น  Longitude อาจจะไม่ทับกัน หรืออาจจะเบี่ยงเบนออกจากกันอย่างชัดเจน เนื่องจากเส้น Longitude เป็นแนวดิ่งที่ตีบเข้าหาจุดขั้วโลก แต่ กริดแผนที่จะเป็นไปตามแนวกริดตามของระบบที่ใช้จัดทำแผนที่ชุดนั้น ๆ

จะพบว่า เมื่อเส้นแนวทิศเหนือจริง เส้นแนวทิศเหนือแม่เหล็ก และเส้นแนวทิศเหนือกริดไม่ซ้อนทับกันแล้ว การที่เส้นแนวทิศเหนือทั้ง 3 เส้นจะเบี่ยงเบนออกจากกันมาก-น้อยขึ้นอยู่กับสถานที่บนพื้นโลก ซึ่งจะมีผลต่อการบอกทิศทางเมื่อต้องบอกว่าจุดหนึ่งอยู่ทางทิศใดของจุดหนึ่ง ซึ่งจะมีวิธีการบอกทิศมีหลายวิธี ได้แก่

1.      บอกทิศเป็นแบบธรรมดาทั่วไป ซึ่งอาจจะบอกเป็น 4 ทิศ 8 ทิศ หรือ 16 ทิศ แล้วแต่ความเหมาะสมของการสื่อสาร

๒.      บอกทิศเป็นแบบชาวเรือ ซึ่งจะบอกย่อยออกไปเป็น 32 ทิศ

๓.      บอกทิศเป็นแบริ่ง (Bearing)  เป็นการวัดมุมแนวนอนเป็น องศา ลิปดา พิลิปดา โดยวัดจากแนวทิศเหนือ หรือแนวทิศใต้ ออกไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตกอยู่ในช่วง 90 องศา เช่น แบริ่งเหนือ 40 องศา 15 ลิปดา 10 พิลิปดา ตะวันออก, แบริ่งใต้ 22 องศา 10 ลิปดา ตะวันตก เป็นต้น

๔.      บอกทิศเป็นอาซิมุท (Azimuth) เป็นการวัดมุมจากทิศเหนือไปตามเข็มนาฬิกาเป็นหน่วย องศา ลิปดา พิลิปดา อยู่ในช่วง 360 องศา เช่น อาซิมุท 76 องศา 15 ลิปดา 10 พิลิปดา, อาซิมุท 20 องศา 20 พิลิปดา เป็นต้น

๕.      บอกทิศเป็นเกรด (Grade) เป็นการวัดมุมจากทิศเหนือไปตามเข็มนาฬิกา เป็นหน่วย เกรด เซนติเกรด เดสิมิลลิเกรด โดยมีการแบ่งวงกลมออกเป็น 400 ส่วนเท่าๆกันและเรียก 1 ส่วนว่า เกรด ใน 1 เกรดจะแบ่งเป็น 100 ส่วนและเรียก 1 ส่วนว่า เซนติเกรด ใน 1 เซนติเกรดจะแบ่งเป็น 100 ส่วนและเรียก 1 ส่วนว่า เดสิมิลลิเกรด เช่น 75.6356 เกรด หรือ 75 เกรด 63 เซนติเกรด 54 เดสิมิลลิเกรด เป็นต้น

๖.      บอกทิศเป็นมิลเลียม หรือมิลล์ (Mils) เป็นการวัดมุมจากทิศเหนือไปตามเข็มนาฬิกา โดยมีการแบ่งวงกลมออกเป็น 6400 ส่วนเท่าๆกันและเรียก 1 ส่วนว่า มิล ซึ่งการบอกทิศแบบมิลล์ เป็นการบอกอย่างละเอียดจึงนำไปใช้กับงานเฉพาะบางประเภทที่ต้องการความแม่นยำ เช่น การยิ่งเป้าหมายของทหารปืนใหญ่  

การบอกทิศบนแผนที่หรือบนพื้นที่จริงจำเป็นต้องเข้าใจทิศเหนือที่ใช้อ้างอิง โดยเฉพาะเมื่อต้องทำแผนที่หรือถ่ายทอดของมูลลงแผนที่ เช่น เมื่ออยู่ในพื้นที่เรามีเครื่องมือคือแผนที่และเข็มทิศ ณ ตำแหน่งที่เราอ่านค่ามุมอาซิมุทอ้างอิงทิศเหนือจากเข็มทิศหมายความว่าตำแหน่งที่อยู่จะเบี่ยงเบนไปจากทิศเหนือแม่เหล็ก หากต้องถ่ายทอดข้อมูลลงแผนที่จำเป็นต้องปรับแก้ค่ามุมอาซิมุทให้อ้างอิงทิศเหนือกริดก่อนจึงจะง่ายต่อการกำหนดตำแหน่งในแผนที่  

อย่างไรก็ตาม จะพบว่า เส้นแนวทิศเหนือจริง เส้นแนวทิศเหนือแม่เหล็ก และเส้นแนวทิศเหนือกริดจะปรากฏในรายละเอียดประจำขอบระวางแผนที่เฉพาะแผนที่มาตราส่วนเล็ก หากเป็นแผนที่มาตราส่วนใหญ่แล้วใน 1 ระวางแนวของเส้นแนวทิศเหนือจริง เส้นแนวทิศเหนือแม่เหล็ก และเส้นแนวทิศเหนือกริดจะเบี่ยงเบนจากกันน้อยจนไม่สามารถแสดงเป็นสัญลักษณ์ได้ชัดเจน