ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

 การจัดเก็บข้อมูลภาคสนามด้วยแผนที่เพื่อจัดทำและนำเสนอข้อมูลในระบบ GIS

 แผนที่ เป็นสิ่งที่แสดงลักษณะของพื้นผิวโลกทั้งหมด หรือบางส่วนบนพื้นราบโดยการย่อส่วนและใช้สัญลักษณ์แทนรายละเอียดต่าง ๆที่ปรากฏอยู่ สิ่งที่สำคัญที่ต้องเข้าใจคุณลักษณะของแผนที่ ประกอบด้วย
1. การถ่ายทอดลักษณะของพื้นผิวโลกลงสู่พื้นราบ
2. การย่อส่วน
3. สัญลักษณ์
ดังนั้นการบันทึกข้อมูลลงบนแผนที่จึงควรเข้าใจทั้ง 3 ส่วนหลักเป็นสำคัญ สำหรับการถ่ายทอดลักษณะของพื้นผิวโลกลงสู่พื้นราบลงแผนที่โดยใช้สัญลักษณ์นั้น จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องการย่อส่วน หรือมาตราส่วน เป็นสำคัญ โดย
มาตราส่วน หมายถึง อัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างระยะทางในแผนที่กับระยะทางในภูมิประเทศจริง โดยกำหนดให้ระยะทางในแผนที่เป็น 1 หน่วย
เมื่อ มาตราส่วน 1 : 1,000 หมายความว่า ถ้าวัดระยะในแผนที่ได้ 1 หน่วย ระยะใน
ภูมิประเทศจะเท่ากับ 1,000 หน่วย เช่น
ถ้าในแผนที่เท่ากับ 1.2 นิ้ว ในภูมิประเทศจริงจะเท่ากับ 1.2 X 1,000 นิ้ว หรือ 1200 นิ้ว หรือ 100 ฟุต
ถ้าในแผนที่เท่ากับ 10 เซนติเมตร ในภูมิประเทศจะเท่ากับ 10 X 1,000 เซนติเมตร หรือ 10,000 เซนติเมตร หรือเท่ากับ 1 กิโลเมตร

 

จัดเก็บข้อมูลภาคสนามด้วยแผนที่เพื่อจัดทำและนำเสนอข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ จำเป็นต้องพิจารณากำหนดชนิดของคุณลักษณะข้อมูล (Feature Type) เมื่อต้องการจัดเก็บในแผนที่ ซึ่งลักษณะชนิดของคุณลักษณะข้อมูล (Feature Type) ในภูมิประเทศที่จะนำเข้าสู่ระบบแผนที่ทั้งที่เป็น Hard Copy หรือ Digital Map เบื้องต้นสามารถจำแนกได้เป็น 3 ลักษณะหลัก คือ
1. ข้อมูลแสดงตำแหน่ง (Point) : เป็นข้อมูลที่ไม่มีขนาดความกว้าง ยาว
2. ข้อมูลแสดงเส้นทาง (Line) : เป็นข้อมูลที่มีความยาว และทิศทาง
3. ข้อมูลแสดงพื้นที่ (Area / Polygon) : เป็นข้อมูลที่มีทั้งขนาด ความกว้าง และความยาว

 


การนำข้อมูลดังกล่าวแสดงในพื้นที่จำเป็นต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับขนาดหรือ
มาตราส่วนของแผนที่ฐานที่ต้องการนำมาแสดงผลหรือใช้งาน เช่น

เมื่อใช้แผนที่ฐานหรือแผนที่ที่ต้องการพิมพ์แสดงผลมาตราส่วน 1 : 1,000 ต้องการลงข้อมูล มีวิธีการพิจารณากำหนด ชนิดของคุณลักษณะข้อมูล (Feature Type)   ดังนี้
1. ตู้โทรศัพท์ ควรกำหนดชนิดของข้อมูล (Feature Type) เป็น Point เนื่องจาก
ขนาดตู้โทรศัพท์จริง กว้าง ยาวประมาณด้านละ 1.5 เมตร ถ้ากำหนดชนิดของข้อมูลเป็น Polygon จะต้องวาดรูปตู้โทรศัพท์ในแผนที่ กว้าง ยาวด้านละ 1.5 มิลลิเมตร (ระยะในแผนที่ 1 มิลลิเมตร = 1 เมตร) ซึ่งไม่สามารถวาดใกล้เคียงตำแหน่งจริงได้
2. อาคาร ควรกำหนดชนิดของคุณลักษณะข้อมูล (Feature Type) เป็น Polygon เนื่องจาก
ขนาดอาคารจริงโดยมาก อาคารที่เล็กสุด จะมีขนาด กว้าง ประมาณด้านละ 4 – 6 เมตร ซึ่งสามารถวาดรูปอาคารในแผนที่ 4 มิลลิเมตรได้ ใกล้เคียงขนาดจริง จึงไม่ควรกำหนดชนิดของคุณลักษณะข้อมูล (Feature Type) เป็น Point
3. สะพานข้ามคลอง ควรกำหนดชนิดของคุณลักษณะข้อมูล (Feature Type) เป็น Line เนื่องจาก
ขนาดสะพานข้ามคลองจริงโดยมากจะมีความกว้างและความยาว โดยขนาดของความยาวสะพานโดยรวม มักจะยาวกว่า 5 เมตร ซึ่งสามารถวาดรูปสะพานในแผนที่ 5 มิลลิเมตรได้ ขณะที่ความกว้างของสะพานข้ามคลอง ส่วนที่เล็กสุดอาจจะกว้างเพียง 1 – 2 เมตร เมื่อวาดในแผนที่จะต้องวาดขนาดความกว้างเพียง 2 มิลลิเมตรซึ่งเป็นไปได้ยาก จึงไม่ควรกำหนดชนิดของคุณลักษณะข้อมูล (Feature Type) เป็น Polygon แต่โดยปกติ สะพานข้ามคลองจะแสดงความยาวของสะพาน และทิศทางที่ขวางลำคลอง จึงควรกำหนดชนิดของคุณลักษณะข้อมูล (Feature Type) เป็น Line
อย่างไรก็ตาม ถ้าแผนที่ฐานหรือแผนที่ที่ต้องการพิมพ์แสดงผลมาตราส่วน 1 : 10,000 แล้ว การกำหนดชนิดของคุณลักษณะข้อมูล (Feature Type) สะพานข้ามคลองควรกำหนดเป็น Point เนื่องจากในแผนที่มาตราส่วน 1 : 10,000 จะแสดงสะพานข้ามคลองได้เพียงตำแหน่งสะพานเท่านั้น (สะพานความยาว 5 เมตร แสดงในแผนที่ 1 : 10,000 ได้เพียง 0.5 มิลลิเมตรเท่านั้น)


หลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลภาคสนามด้วยแผนที่
เมื่อกำหนดลักษณะชนิดของคุณลักษณะข้อมูล (Feature Type) ได้แล้ว การจัดเก็บข้อมูลภาคสนามมีขั้นตอนดำเนินการดังนี้
1. วางตำแหน่งทิศของแผนที่ให้ถูกต้องตามทิศของภูมิประเทศจริง ดังนี้

1.1 ถ้าแผนที่มีสัญลักษณ์ ทิศเหนือ ให้ทำการเทียบทิศทางกับทิศทางในภูมิประเทศจริง
แล้ววางแผนที่ให้ถูกทิศทาง
1.2 กรณีแผนที่ไม่สมบูรณ์และไม่ได้แสดงสัญลักษณ์ทิศเหนือไว้ ผู้ใช้แผนที่ควรสังเกต
ลักษณะภูมิประเทศจริงเปรียบเทียบกับสัญลักษณ์ที่ปรากฏในแผนที่อย่างน้อย 3 จุด เช่น ในภูมิประเทศจริง สำนักงานเขตอยู่

ด้านขวา สถานีดับเพลิงอยู่ด้านซ้ายมือ และโรงพยาบาลอยู่ด้านหน้า ของผู้ใช้แผนที่
ให้สมมุติว่าผู้ใช้แผนที่ยืนอยู่บนแผนที่แล้ว สำนักงานเขตอยู่ด้านขวา สถานีดับเพลิง
อยู่ด้านซ้ายมือและโรงพยาบาลอยู่ด้านหน้าของผู้ใช้แผนที่ด้วยเช่นกัน หลังจากนั้นจึงเขียนสัญลักษณ์ทิศเหนือลงในแผนที่ กรณีที่ไม่ทราบทิศทางในภูมิประเทศผู้ใช้แผนที่สามารถสังเกตดวงอาทิตย์ในช่วงเช้า หรือเย็น ซึ่งจะทำให้ทราบทิศว่าเป็นทิศตะวันออกหรือตะวันตกได้โดยประมาณ จากนั้นผู้ใช้แผนที่สามารถเขียนสัญลักษณ์ทิศเหนือโดยประมาณลงในแผนที่ได้จากการยืนให้ด้านขวามืออยู่ด้านทิศตะวันออก ซ้ายมืออยู่ด้านทิศตะวันตกซึ่งด้านหน้าก็จะเป็นทิศเหนือแล้วสมมุติจุดยืนเหมือนข้างต้นและหมุนแผนที่ให้ตรงลักษณะภูมิประเทศจริงแล้วจึงเขียนทิศเหนือบนแผนที่เพื่อเป็นจุดสังเกตต่อไป



2. หาตำแหน่งบนแผนที่ที่ผู้ใช้แผนที่ยืนอยู่ โดยเริ่มจากลักษณะที่ปรากฏบนภูมิประเทศอย่างน้อยๆ 3 จุด ทางด้านซ้าย ด้านขวา และด้านหน้าหรือด้านหลังของผู้ใช้แผนที่ แล้วจึงเทียบเคียงกับลักษณะที่ปรากฏบนแผนที่

3. บันทึกข้อมูลในภูมิประเทศลงบนแผนที่ การบันทึกข้อมูลลงในแผนที่โดยทราบสัดส่วนหรือมาตราส่วนของแผนที่สามารถทำได้โดยง่าย ซึ่งมีหลักการเบื้องต้นของการเก็บบันทึกข้อมูลดังนี้

3.1 เมื่อทราบมาตราส่วนของแผนที่
1. คำนวณระยะใน 1 หน่วยแผนที่เทียบกับระยะจริงบนภูมิประเทศ เช่น แผนที่
ที่ใช้อ้างอิงจัดเก็บข้อมูลมีมาตราส่วน 1 : 1,000 หมายความว่า 1 เซนติเมตร เท่ากับ 100 เมตร

2. หาตำแหน่งอ้างอิงและทิศทางในแผนที่
3. ลงตำแหน่งข้อมูล เช่น เมื่อลงตำแหน่งตู้โทรศัพท์ซึ่งอยู่ห่างจากทางแยก
ประมาณ 50 เมตร โดยอาจจะวัดระยะด้วยเทปหรือการนับก้าวระหว่างจุดสนใจกับจุดที่ปรากฏในแผนที่


3.1 เมื่อไม่ทราบมาตราส่วนของแผนที่
หาระยะอ้างอิงในแผนที่และในภูมิประเทศที่ทราบระยะจริง เช่นความยาวของถนน
ที่เข้าอาคารสำนักงานประมาณ 100 เมตร เทียบสัดส่วนกับแผนที่ซึ่งวัดได้ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร จะได้มาตราส่วนโดยประมาณ คือ 1 เซนติเมตร : 100 เมตร หรือ 1 เซนติเมตร : 100 x 100 เซนติเมตร

นั่นคือแผนที่มีมาตราส่วนโดยประมาณเท่ากับ 1 : 10000
ลงตำแหน่งข้อมูลเช่นเดียวกับกรณีทราบมาตราส่วนของแผนที่ข้างต้น

4. บันทึกรายละเอียดข้อมูลตามแบบบันทึกที่เตรียมไว้

อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน เราสามารถลดเวลาในการสำรวจเพื่อจัดทำและนำเสนอข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ได้ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า GPS หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งองค์ความรู้ในการสำรวจจะถูกซ้อนอยู่ในเทคโนโลยีดังกล่าว โดยบ้างครั้งผู้ใช้ไม่มีโอกาสรู้ว่าข้อมูลที่ได้มานั้นผิดพลาดเกินกว่าที่จะนำไปใช้งาน.....