ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

 

ตั้งแต่เด็กจนแก่มนุษย์อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมรอบตัว การเหลียวหันไปมอง การไขว้คว้า การเคลื่อนที่ของมนุษย์ล้วนผ่านการจดจำว่ามีอะไร อยู่ที่ไหน อย่างไร การจดจำหรือจินตนาการสภาพแวดล้อมของมนุษย์แต่ละคนนั้นเราเรียกมันว่า แผนที่ในใจ (Mental Map) ซึ่งแต่ละคนจะมีไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับการรับรู้ การรู้สึก การสนใจหรือให้ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อม

 

หากให้แต่ละคนบอกเล่าสื่อสารสภาพแวดล้อมเดียวกัน โดยใช้แผนที่ในใจ (Mental Map) เพื่อบอกเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อธิบายการเดินทางจากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง แน่นอนว่าแต่ละคนคงจะสื่อสารได้ไม่เหมือนกันและผู้รับสื่อก็มีโอกาสทั้งเดินทางถูกต้องหรือหลงทางก็ได้

 

แผนที่ (Map) (ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า “Mappa” ที่แปลว่าผ้าคลุม ซึ่งมนุษย์จิตนาการว่าใช้คลุมโลกและคัดลอกสภาพแวดล้อมบนพื้นโลกมาสู่ผ้าคลุมนั้น) เป็นเครื่องมือที่มนุษย์พยายามนำเอาแผนที่ในใจ (Mental map) ของแต่ละคนโดยเฉพาะส่วนที่หลายๆ คนหรือทุกคนมีการรับรู้สภาพแวดล้อมบางอย่างหรือหลายๆอย่างที่เหมือนๆ หรือตรงกันมาสร้างเป็นแผนที่นอกใจ ทั้งที่อยู่ในรูป หุ่นจำลอง (Physical Model) แผนที่ภาพถ่าย (Photo Map) หรือแผนที่ลายเส้น (Line Map) โดยการย่อส่วนตามอัตราส่วนที่เหมาะสมและใช้สัญลักษณ์ที่คงรูปร่างให้คล้ายของจริงมากที่สุด โดยยึดหลักของการทำแผนที่ที่ต้องการแสดงรายละเอียดของพื้นที่ให้สามารถมองเห็นเพียงครั้งเดียวสามารถเข้าใจรายละเอียดพื้นที่ได้มาก รวดเร็วกว่าการอ่านหนังสือหรือฟังคำบรรยายเรื่องเดียวกันกับแผนที่นั้น

ดังนั้น แผนที่ (Map) ก็คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแสดงสิ่งที่ปรากฏบนพื้นพิภพ หรือจากการมองเห็นหรือจินตนาการจากพื้นพิภพ (เช่น สิ่งที่ปรากฏบนท้องฟ้า) ทั้งหมดหรือบางส่วน โดยแสดงเป็นสัญลักษณ์ตามอัตราส่วนบนพื้นวัสดุที่เหมาะสม