ให้เรตสมาชิก: 4 / 5

ดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

ลม  คือ อากาศที่เคลื่อนที่จากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่งซึ่งเกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิ ความกดอากาศของ 2 พื้นที่ โดยลมจะพัดจากบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำซึ่งมีความกดอากาศสูงเข้าสู่บริเวณที่อุณหภูมิสูงซึ่งมีความกดอากาศต่ำ

บริเวณที่มีอุณหภูมิสูงจะมีความกดอากาศต่ำ เนื่องจากอุณหภูมิสูง อากาศขยายตัวทำให้มีความหนาแน่นต่ำ อากาศจะลอยไปข้างบน ส่วนบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำ ความหนาแน่นของอากาศจะมากทำให้เป็นบริเวณที่มีความกดอากาศสูง สำหรับแผนที่อากาศจะใช้เส้นไอโซบาร์ (Isobar) เป็นแนวบอกค่าระดับความกดอากาศสูงหรือต่ำ (การอ่านค่าคล้ายกับการอ่าน Contour line : ดูที่ อ่านและแปลความจากเส้นชั้นความสูง) และใช้อักษร H และ L บอกบริเวณหย่อมความกดอากาศ โดยหย่อมความกดอากาศสูงใช้อักษร H หย่อมความกดอากาศต่ำใช้อักษร L

 

หากพิจารณาการเคลื่อนตัวของอากาศรอบโลกจะพบว่า บริเวณเขตเส้นศูนย์สูตรเป็นบริเวณที่ได้รับแสงอาทิตย์ตลอดทั้งปีมีอุณหภูมิสูง  อากาศร้อนจะลอยตัวสูงขึ้น(ความกดอากาศต่ำ) ไปจนถึงชั้นบรรยากาศโทรโปสเฟียร์ ซึ่งอากาศจะลอยไม่เกินระดับนี้ อากาศร้อนนี้จึงแผ่ออกไปยังขั้วโลกเหนือและใต้ และเมื่ออากาศร้อนที่แผ่ออกไปปะทะกับอากาศที่เย็นอุณหภูมิก็จะเริ่มลดลงจนถึงบริเวณแถบละติจูด 30° เหนือและใต้ของเส้นศูนย์สูตร อากาศที่เย็นลงเรื่อยๆ (ความกดอากาศสูง) ก็จะจมลงสู่ผิวโลก แต่เนื่องจากอากาศนี้มีความชื้นต่ำจึงทำให้บริเวณนี้แห้ง จึงพบทะเลทรายส่วนใหญ่ของโลกอยู่ในบริเวณนี้

อากาศเย็นที่บริเวณเส้นละติจูด 30° เหนือและใต้ ที่จมตัวลงพื้นผิวโลกเนื่องจากความกดอากาศสูงจะถูกกดและผลักให้ไหลไปยังบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำบริเวณเส้นศูนย์สูตร จนถึงบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรและหมดกำลังทำให้เกิดเขตลมสงบ หรือลมอ่อน (doldrums)

ในขณะที่อากาศเย็นตัวที่จมลงกลับสู่ผิวโลกที่บริเวณเส้นละติจูด 30° เหนือและใต้ที่จมตัวลงพื้นผิวโลกเนื่องจากความกดอากาศสูงอีกส่วนหนึ่ง จะถูกกดและผลักให้ไหลไปทางขั้วโลกเหนือและใต้ และไปปะทะกับอากาศเย็นจากขั้วโลก แถบบริเวณเส้นละติจูด 60° เหนือและใต้ จึงเรียกบริเวณนี้ว่า แนวปะทะขั้วโลก (polar fronts)  การปะทะกันของอากาศที่มีอุณหภูมิต่างกัน ทำให้อากาศร้อนกว่าลอยตัวขึ้นโดยส่วนหนึ่งไหลย้อนกลับไปทางเส้นศูนย์สูตร ก่อนที่จะจมตัวลงแถบบริเวณเส้นละติจูด 30° เหนือและใต้อีกครั้งทำให้เกิดความกดอากาศสูงที่บริเวณนี้เพิ่มขึ้น อีกส่วนหนึ่งไหลเคลื่อนไปยังเขตขั้วโลกเหนือและใต้ปะทะกับอากาศเย็นขั้วโลกและจมลง แล้วไหลย้อนกลับไปยังบริเวณเส้นละติจูด 60° เหนือและใต้

 


การเคลื่อนตัวของอากาศที่เรียกว่าลมนั้น สามารถแบ่งประเภทได้ตามลักษณะการเกิด พื้นที่ที่เกิด และช่วงเวลาการเกิด ดังนี้

  1. ลมประจำเวลา (Diurnal Wind) หรือ ลมเฉื่อย (Breeze)   
  2. ลมประจำถิ่น (Local Wind)
  3. ลมประจำปี (Prevailing Wind)
  4. ลมประจำฤดู (Seasonal Wind)
  5. มแปรปรวนหรือลมพายุ (Storm) 

 

1. ลมประจำเวลา (Diurnal Wind) หรือ ลมเฉื่อย (Breeze) 

ป็นลมที่มักจะเกิดในบริเวณหนึ่งๆ ในช่วงเวลาต่างกันในรอบวัน คือ กลางวันและกลางคืน โดยจะเกิดบริเวณพื้นที่ที่ใกล้กันแต่มีลักษณะภูมิประเทศแตกต่างกัน ซึ่งในเวลากลางวันและกลางคืนอุณหภูมิระหว่างสองพื้นที่จะต่างกันด้วย ลมประจำเวลา ได้แก่ ลมบก-ลมทะเล  ลมหุบเขา-ลมภูเขา


2. ลมประจำถิ่น (Local Wind) 

เป็นลมที่เกิดในแต่ละท้องถิ่นตามลักษณะภูมิประเทศโดยเฉพาะ โดยจะมีชื่อเรียกตามสถานที่เกิดบริเวณนั้น เช่น ลมตะเภา ลมบ้าหมู ลมทะเลทราย (Desert Winds)

ลมตะเภาซึ่งเป็นลมที่พัดจากอ่าวไทยขึ้นไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาในฤดูร้อน

 

ลมบ้าหมู เป็นลมหมุนขนาดเล็กเกิดในช่วงร้อนจัด  โดยจะเกิดบริเวณที่โล่งๆหมุนขึ้นไปข้างบน

 

 

ลมทะเลทราย เป็นลมท้องถิ่นเกิดขึ้นในบริเวณทะเลทราย เวลาเกิดจะมาพร้อมกับพายุฝุ่นหรือพายุทราย เป็นลมร้อนและแห้ง บริเวณที่เกิดได้แก่ ทางด้านเหนือของทวีปแอฟริกา บริเวณทะเลทราย ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา


 

3. ลมประจำปี (Prevailing Wind) 

เป็นลมที่เกิดจากความกดอากาศที่มีอยู่เดิมตลอดปี เนื่องจากบริเวณขั้วโลกและบริเวณเส้นศูนย์สูตรได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน บริเวณที่มีมวลอากาศน้อยเนื่องจากร้อนมากอากาศลอยตัว เรียกว่า หย่อมความกดอากาศต่ำ (Low pressure) บริเวณที่มีมวลอากาศมากเนื่องจากอากาศเย็นอากาศจึงจมตัว เรียกว่า หย่อมความกดอากาศสูง (High pressure) ซึ่งอากาศจมตัวเคลื่อนไปแทนที่อากาศที่ลอยตัวทำให้เกิดลมพัดผ่านส่วนต่าง ๆ ของโลก ลมประจำปี ได้แก่ ลมสินค้า ลมฝ่ายตะวันตก และลมขั้วโลก

 

 

 

4. ลมประจำฤดู (Seasonal Wind)

เป็นลมที่เกิดขึ้นในภูมิภาคบริเวณกว้างและเป็นลมที่พัดเป็นเวลานานตลอดฤดูของทุกปี  ได้แก่  ลมมรสุม  สำหรับทิศทางการพัดนั้นขึ้นอยู่ฤดู เป็นลมที่มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของลมที่พัดจากฤดูหนึ่งไปยังอีกฤดูหนึ่งในทิศทางตรงกันข้าม และเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้เนื่องจากทวีปเอเชียมีขนาดใหญ่ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของพื้นดินและน้ำจึงต่างกันมาก การเกิดลมมรสุมแบ่งได้ 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้หรือมรสุมฤดูร้อน และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหรือ มรสุมฤดูหนาว

 


5. ลมแปรปรวนหรือลมพายุ (Storm) 

เป็นลมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงเนื่องจากความกดอากาศที่แตกต่างกันมากจึงทำให้เกิดลมที่มีความรุนแรงมาก ได้แก่ พายุฝนฟ้าคะนอง พายุเขตร้อน

พายุฝนฟ้าคะนอง เกิดจากการเปลี่ยนกดอากาศอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนพฤษภาคมทำให้มีพายุ ลมแรง ฝนตกหนัก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ลูกเห็บตก

 

พายุเขตร้อน เป็นพายุที่เกิดจากการปะทะของความกดอากาศ โดยบริเวณศูนย์กลางจะมีความกดอากาศที่ต่ำกว่าบริเวณรอบๆ จนเกิดพายุหมุน