ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

 เฝ้าระวังสภาพอากาศท้องถิ่น

หลังจากได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนที่บ้านภูมิ-เพียง แม่ริม..เลยบังอาจเสนอแนวคิดผ่าน มุมคิดมุมมอง ของผู้ได้รับผลกระทบเพราะเห็นว่าในท้องถิ่น ระดับจังหวัด น่าจะทำอะไรที่เกี่ยวกับการติดตามสภาพอากาศท้องถิ่นได้ระเอียดกว่าการคาดการณ์สภาพอากาศในพื้นที่ระดับภูมิภาคของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งโดยทั่วไปมักได้รับข่าวสารว่า พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบนมีแนวโน้มลดลงแต่ยังคงเกิดขึ้นได้ โดยมีลักษณะของฝนฟ้าคะนอง กับลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น...

แล้วยังไง? (คำถามพื้นๆแบบบ้านๆ)

หากมีการตั้ง War room ติดตาม เฝ้าระวังและเตือนภัยพายุฤดูร้อนในท้องถิ่นได้น่าจะดี....เพราะอย่างน้อยประชาชนควรจะมีโอกาสเตรียมพร้อมเก็บข้าวของ ดูแลป้องกันสวนผลไม้ เตรียมที่พัก น้ำ ไฟสำรองและอื่นๆ ....เหตุผลที่สนับสนุนว่าทำไมต้องมี War room ติดตาม เฝ้าระวังและเตือนภัยพายุฤดูร้อนในท้องถิ่น เพราะว่าจังหวัดมีหน่วยงานที่สามารถสั่งการและขอความร่วมมือได้มากมาย ทั้งที่เป็นองค์ความรู้ ประสบการณ์ของบุคลากร รวมทั้งมีทรัพยากรที่สามารถนำมาใช้งานเพื่อภารกิจนี้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

จากข้อมูลพบว่าหน่วยงานที่จะเป็นขุมกำลังด้านวิชาการและปฏิบัติการซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนภารกิจ War room ติดตามสภาพอากาศโดยเฉพาะพายุฤดูร้อนในท้องถิ่นได้มีหลายหน่วยงานในจังหวัด เช่น   สำนักงานสถิติจังหวัด ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ สำนักงานส่งเสริมซอฟแวร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) สาขา สำนักประชาสัมพันธ์เขต สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเกษตรจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง สำนักชลประทาน สถานีพัฒนาที่ดิน ศูนย์วิจัยพืชไร่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค สถานีควบคุมไฟป่าจังหวัด สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ท้องถิ่นกลุ่มเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล สถานศึกษา มหาวิทยาลัย ฯลฯ

แล้วจะให้ทำอะไรบ้าง ?

จากผังการบริหารจัดการระดับจังหวัดซึ่งมีการประชุมหน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เมื่อให้ความสำคัญโดยการตั้ง War room ติดตาม เฝ้าระวังพายุฤดูร้อนในท้องถิ่นแล้ว

สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ คือ

1. ศึกษา วิจัย : มหาวิทยาลัยในพื้นที่ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ภาควิชาภูมิศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ ภาควิชา...มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ภาควิชา....มหาวิทยาลัย.... ฯลฯ ควรเข้ามาศึกษา วิจัยสภาพการเกิดพายุฤดูร้อนทั้งในส่วนก่อนการเกิด ระหว่างเกิดและหลังเกิดเหตุ (อาจจะเป็นงานสอนหรืองานวิจัยโดยคณะอาจารย์ นักศึกษาปริญญาตรี..โทก็ได้เนื่องจากเป็นการนำ ศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ ดีกว่าให้มหาวิทยาลัยเน้นการสอนเทคโนโลยีมากกว่า ศาสตร์) ที่กล่าวว่า มหาวิทยาลัยในพื้นที่น่าจะศึกษาและนำผลมาใช้ได้เพราะว่าจากการสังเกตหลายครั้ง หลายปีต่อเนื่อง พบว่า

- ก่อนเกิดพายุฤดูร้อนมีการเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ในพื้นที่มีอุณหภูมิจะร้อนจัดต่อเนื่อง มีลมร้อนพัดผ่านรุนแรงกว่าปกติเป็นระยะ ๆ ช่วงเวลาเช้าอุณหภูมิจะเย็นลงมาก(อุณหภูมิจะแตกต่างกันมากในช่วง 1 วัน) ฯลฯ     

- ขณะเกิดเหตุจะเกิดในพื้นที่เดิม ๆ โดยมีทิศทางลมเป็นทิศทางเดี่ยวกับทุกๆครั้ง

- หลังเกิดเหตุส่วนใหญ่บ้าน 2 ชั้นหลังคาจะเสียหาย บ้านที่มีไม้ใหญ่บังทิศทางลมจะเสียหายน้อยมาก ฯลฯ

            ทั้งหมดคือสิ่งที่ผู้เขียนสังเกตได้ หากมหาวิทยาลัยมีการศึกษา ส่งนักศึกษามาสำรวจและเก็บข้อมูลทั้งการสังเกตและพูดคุยกับชุมชนอาจจะตั้งสมมุติฐานอะไรได้ชัดเจนขึ้น ประกอบกับในระดับมหภาคยังมีข้อมูลอีกมากมายทั้งที่เป็นข้อมูล real time และ non real time ที่สามารถนำมาประกอบการศึกษาวิจัยได้โดยตรง

ที่สำคัญคือมหาวิทยาลัยท้องถิ่นได้ทำหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่นำผลการศึกษามาใช้ประโยชน์กับท้องถิ่น (นักศึกษาจะได้มีหัวข้อศึกษาวิจัยใหม่ ๆ...บ้าง ไม่ใช่แต่ศึกษาวิจัยเรื่องเดิม ๆ แต่เปลี่ยนพื้นที่ศึกษา หรือศึกษาวิจัยเฉพาะการทำงานของเทคโนโลยี...ซึ่งไม่ใช่ ศาสตร์)

            หากผลการศึกษาชัดเจนขึ้นจนทราบว่าในระดับท้องถิ่น(พื้นที่ขนาดเล็กระดับชุมชน ตำบล หมู่บ้าน) มีปัจจัยอะไรบ้างกระทำต่อกันอย่างไร(ตัวแปรและสมการในภาษาวิชาการ) จึงทำให้เกิดพายุฤดูร้อน  นี่คือจุดเริ่มต้นของ War room ติดตาม เฝ้าระวังและเตือนภัยพายุฤดูร้อนในท้องถิ่น

            2. พัฒนาเครื่องมือรวบรวมข้อมูล ติดตามและเตือนภัย : เมื่อทราบปัจจัยที่ทำให้เกิดพายุฤดูร้อน สิ่งที่ War room ติดตาม เฝ้าระวังและเตือนภัยพายุฤดูร้อนในท้องถิ่น ต้องดำเนินการคือการรวบรวมข้อมูล เช่น หากอุณหภูมิเป็นตัวแปรการเกิดพายุฤดูร้อน จะพบว่าหลายหน่วยงานมีการจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่อยู่แล้ว ถ้าต้องการติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิเพิ่มเติมสามารถทำได้เบื้องต้น โดยระยะสั้นอาจจะติดตั้งแบบ Manual คือ อ่าน จดบันทึกและรายงานโดยคน ซึ่งสามารถติดตั้งได้ทันทีที่ชุมชน บ้านผู้ใหญ่บ้าน โรงเรียน วัด ฯลฯ ส่วนระยะยาวอาจจะให้ สำนักงานส่งเสริมซอฟแวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สาขา..ศึกษาและพัฒนาเครื่องวัดอุณหภูมิที่เชื่อมรายงานผลผ่านระบบ Internet เข้ามาที่ War Room (แนวคิด Internet of Thing)

รวมทั้ง สำนักงานส่งเสริมซอฟแวร์แห่งชาติฯ ยังสามารถนำเอาตัวแปรและสมการการเกิดพายุฤดูร้อนในท้องถิ่นมาพัฒนาระบบการติดตามและเตือนภัยได้

            3. จัดตั้ง War room ติดตาม เฝ้าระวังและเตือนภัยพายุฤดูร้อนในท้องถิ่น : โดยจะประกอบด้วย 4 ส่วนที่ต้องทำงานร่วมกันคือ

- หน่วยข้อมูล เป็นหน่วยรับส่งข้อมูลที่มีทั้งที่ผ่านระบบ Internet และผ่านเครือข่ายท้องถิ่นจากหน่วยงานในพื้นที่ซึ่งต้องเชื่อมโยงเข้ามารวมที่ War Room เช่น

- หน่วยติดตามและเฝ้าระวัง เป็นหน่วยรวมรวม ประมวล และรายงานผลและแปลความการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งอาจจะเป็นสถาบันการศึกษาและคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ สำนักงานส่งเสริมซอฟแวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สาขา ฯลฯ

- หน่วยเตือนภัย เป็นกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องการการประชาสัมพันธ์และแจ้งเหตุ ได้แก่ สำนักประชาสัมพันธ์เขต สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัด ฯลฯ

- หน่วยปฏิบัติการณ์ในพื้นที่ เป็นกลุ่มที่ต้องออกไปช่วยเหลือหลังเกิดเหตุเป็นปกติอยู่แล้ว เช่น การไฟฟ้าภูมิภาค การประปา ฯลฯ แต่สิ่งที่ควรให้หน่วยงานเหล่านี้ได้รับรู้ คือ ข้อมูลจาก War Room เพื่อการเตรียมพร้อมทั้งการตั้งรับและการแก้ปัญหา

สิ่งที่เสนอข้างต้นเป็นเพียงแนวคิดที่เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น(รายละเอียดปลีกย่อยยังคงมีอีกมากมาย) การนำไปปฏิบัติจริงมีความเป็นไปได้แต่ต้องประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมจริงทั้งสภาพแวดล้อมการบริหาร สภาพแวดล้อมทางวิชาการ และสภาพแวดล้อมทางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หากมีความเป็นไปได้การมีเพียง War room ติดตาม เฝ้าระวังและเตือนภัยพายุฤดูร้อนในท้องถิ่น อาจจะมีความคุ้มค่าและเหมาะสมมากขึ้นเมื่อหน่วยงานระดับจังหวัดจะขยายผลเป็น War Room การเฝ้าระวังและเตือนภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติของท้องถิ่น